โทษของยาสูบ ของ ยาสูบ (พืช)

1. สารนิโคตินในใบยาสูบ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่ โดยบุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดจะมีปริมาณของนิโคตินประมาณ 4-4.5% หากเข้าไปในร่างกายของคนสูบเพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้คนสูบนั้นติดบุหรี่ได้ทันที ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงการติดบุหรี่ก็จะยิ่งง่ายกว่าผู้ชาย และยังเลิกได้ยากกว่าผู้ชายอีกด้วย เพราะปอดผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่าผู้ชายนั่นเอง

2. ในสมัยก่อนเราจะใช้ยาสูบทำเป็นยาระงับประสาท ยาทำให้นอนหลับ ทำให้อาเจียน และขับเหงื่อ แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นพบว่ามันมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายหลายชนิด การสูบบุหรี่ทำให้ไอและเจ็บคอ เนื่องจากลำคอและหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ประสาทส่วนกลาง คือ หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หัวใจอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความจำเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ หายใจอ่อน เหงื่อออกมากผิดปกติ และมีอาการมือสั่น แต่ในคนที่สูบเป็นประจำ จะไม่มีอาการเหล่านี้ เพราะร่างกายสามารถอ๊อกซิไดซ์นิโคตินได้พอสมควร โดยคนที่สูบซิกาแรควันละ 25 มวน จะทำให้เสียสีของเม็ดเลือดแดงไปประมาณ 25% ในคราวหนึ่ง

3. นิโคตินในระดับต่ำจะไปกระตุ้น Nicrotinic receptor แต่ในขนาดสูงจะไปปิดกั้น Nicrotinic receptor อาการที่พบจะซับซ้อน อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการสั่นหรือชักได้ โดยปกติจะมีฤทธิ์ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล และเพิ่มระดับความรู้สึกเจ็บปวด

4. ผู้ที่ติดบุหรี่มักจะมีอาการไอ มีอาการหอบแห้งในลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด และหลอดลมอักเสบ

5. บุหรี่เป็นสารเสพติดที่ติดได้ง่ายยิ่งกว่าแอลกอฮอล์ โดยจัดเป็นสารสงบประสาท ระงับความอยากอาหาร เพิ่มน้ำตาลในเลือดเล็กน้อย ทำให้ประสาทเกี่ยวกับการรับรสเสียไป ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด และเป็นโทษต่อร่างกายนานับประการ เพราะถ้าทำการสกัดสารนิโคตินออกมาจากซิการ์เพียงมวนเดียว แล้วนำมาฉีดเข้าเส้นเลือดคน จะมีพิษถึงขนาดทำให้ตายได้เลย

6. ผลของนิโคตินจากการสูบบุหรี่จะเกิดผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางภายใน 10 วินาที หากมีการเคี้ยวยาสูบจะมีผลของนิโคตินที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบ เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หากกินเป็นเวลา 3-5 นาที จะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาท CNS นอกจากนี้นิโคตินยังมีผลทำให้เบื่ออาหารและเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ประสาทรับรู้รสและกลิ่นเสียไป ปอดจะถูกทำลายหากสูบเป็นเวลานาน และจะเป็นสาเหตุของโคปอด โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้

7. ผลของนิโคตินหากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด มีอาการฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิและนอนไม่หลับ

8. การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ พบว่าในบริเวณที่ลุกไหม้ จำนวน 5% ของนิโคตินจะถูกเผาไหม้เป็นสารอินทรีย์และไม่มีพิษ จำนวน 30% เป็นควันกระจายออกไป จำนวน 25% ถูกสูบเข้าไปในปากและหลอดลม ทำให้นิโคตินจับอยู่บริเวณปากและบางส่วนก็เข้าไปทางเส้นเลือด และจากส่วนที่เข้าไปนั้น 95% จะเข้าไปที่ปอด ซึ่งนอกจากนิโคตินแล้วยังมีสารสำคัญอีกพวก คือ ทาร์ (Tars) ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรูปต่าง ๆ หลายชนิด ในขณะที่เผาไหม้ใบยาสูบและกระดาษ ซึ่งสารที่สำคัญ คือ Benzopyrine (เชื่อว่าเป็นสารที่ทำให้เซลล์เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้)

9. นควันบุรี่ตอนปลายที่เกิดการเผาไหม้และระเหย จะมีนิโคติน ทาร์ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนน็อกไซด์ แอมโมเนียม ไฮโดรเจนซัลไฟต์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ล้วนเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด ถุงลม เยื่อบุกระเพาะ นิโคตินทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การบีบตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะทาร์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

10. ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งที่ปอด กล่องเสียง เต้านม กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร หลอดไต ตับอ่อน ไต มดลูก และเม็ดเลือดได้ และคนที่สูบบุหรี่จัดมักมีอายุสั้นเพราะป่วยด้วยโรคหลายโรค ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หากมีการสูบบุหรี่ด้วยก็จะยิ่งมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ถึง 3 เท่า

11. นอกจากสารนิโคตินในบุหรี่ที่ทำให้คนติดกันอย่างงอมแงมแล้วเลิกบุหรี่บุหรี่ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษอีกมากมาย เช่น 4-aminobiphenyl (ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ), Nitrosamines (ทำให้เกิดมะเร็งมากที่สุด), Hydrogen cyanide (ทำให้ปอดระคายเคือง), Carbon monoxide (ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ) และในควันบุหรี่ยับพบสาร Benzo-a-pyrene, Benzene, Acrolein, Polonium, และสารตะกั่ว ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเป็นสารพิษทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่ มักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมองแตก ตาเป็นต้อ ผิวหนังเหี่ยวย่น และหากล้มกระดูกแตก แผลกระดูกก็จะสมานช้า

12. ควันบุหรี่ยังทำให้ผู้สูบเป็นโรคถุงลมปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง และทารกที่คลอดจากสตรีที่สูบบุหรี่มักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ และแม่ที่สูบบุหรี่มักจะมีปัญหาในการตั้งครรภ์และการคลอดมากกว่าแม่ที่ไม่สูบบุหรี่เลย

13. ควันบุหรี่ใช่ว่าจะฆ่าเฉพาะคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น เพราะการใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ก็สามารถทำให้ควันบุหรี่มีละอองพิษผ่านเข้าไปทำร้ายเยื่อหุ้มปอดและเยื้อเยื่อในปอดของคนใกล้ชิดได้ แม้ว่าควันพิษนั้นจะมีน้อยเพียง 1% ของคนที่สูบโดยตรงก็ตาม แต่จากสถิติการตายเพราะการสูดควันโดยทางอ้อมก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

14. ในบุหรี่จะประกอบไปด้วยใบยาสูบหั่น น้ำมันดิน กระดาษสำหรับมวน ซึ่งจะมีก๊าซอยู่มากถึง 12 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดนี้ร้ายแรงจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ไฮโดรไซอาไนด์ (CN) ส่วนนิโคตินเป็นสารที่มีอยู่ในใบยาสูบ น้ำมันดินที่มีอยู่ในบุหรี่ เมื่อสูบเข้าไปจะไปเกาะที่ผนังปอดและหลอดลม

15. การสูบบุหรี่ด้วยวิธีการเผาใบยาจะทำให้นิโคตินและอัลคาลอยด์ต่าง ๆ สลายตัว โดยวัตถุเหล่านี้จะทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นในการสูบบุหรี่ และมีหลายคนแสดงว่าการสูบบุหรี่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท แต่ไม่ใช่เป็นผลอันเนื่องมาจากฤทธิ์ของนิโคติน

16. คนที่ติดบุหรี่มากเมื่อไม่ได้รับนิโคติน จะเกิดอาการกระสับกระส่าย สมาธิสั้น นอนไม่หลับ เมื่อ 20 นาทีหลังจากการอดบุหรี่ ความดันโลหิตจะลดลง ชีพจรเต้นช้าลง และเมื่อผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับออกซิเจนในเลือดจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติ แต่ในขณะเดียวกันระดับคาร์บอนมอนนอกไซด์ก็จะลดลงด้วย และหลังจากหยุดสูบบุหรี่ 2 วัน ระบบความรู้สึก การรับรสและกลิ่นต่าง ๆ จะทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อผ่านไป 3 เดือน การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานของปอดก็จะดีขึ้นด้วย ยิ่งถ้าหากหยุดไปได้นานถึง 10 ปี โอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ก็ลดลงถึง 50% แต่การจะทำได้ในขนาดนี้คนที่ติดบุหรี่จะต้องมีความตั้งใจ ความอดทน และความพยายามสูง จึงจะชนะยาเสพติดชนิดนี้ได้

17. อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาสูบจะมีอันตรายและเป็นโทษต่อร่างกายสารพัด แต่ผลเหล่านี้จะเกิดช้า โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้หลาย ๆ คนไม่รู้สึกตระหนักถึงอันตรายของยาสูบ แต่ในปัจจุบันสังคมเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับโทษของบุหรี่กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการห้ามสูบในที่สาธารณะ และห้ามเยาวชนสูบ รวมทั้งจำกัดการโฆษณาและให้พิมพ์คำเตือนถึงอันตรายบนซองบุหรี่ ฯลฯ